ปัจจุบันทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยได้เข้าสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียนอย่างเต็มตัว เนื่องจากเป็นพลังงานที่นำกลับมาใช้ได้เรื่อย ๆ อย่างไม่มีวันหมดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราจึงเห็นประเทศไทยพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์และลมกันอย่างแพร่หลาย
หากมองเรื่องความมั่นคงของระบบไฟฟ้าแล้ว พลังงานหมุนเวียนยังมีข้อจำกัดที่ไม่เสถียรและมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอดเวลา กฟผ. จึงต้องแสวงหาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้บรรลุตามเป้าหมาย ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับหรือระบบกักเก็บพลังงานด้วยพลังน้ำขนาดใหญ่ (Energy Storage System: ESS) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่นำเข้ามาเสริมทัพในการผลิตพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเสริมความมั่นคงให้แก่ระบบ เปรียบเสมือนเป็น “แหล่งไฟฟ้าสำรอง” ที่พร้อมรองรับความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนนั่นเอง
‘โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ’ คืออะไร?
เดิมทีจุดประสงค์หลักของการสร้างอ่างเก็บน้ำ คือ การเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร อุปโภค และบริโภค การผลิตไฟฟ้าเป็นเพียงผลพลอยได้จากการปล่อยน้ำผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเท่านั้น แต่ปัจจุบันเมื่อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีปริมาณมากขึ้น ช่วงเวลาที่ไม่มีแดดและไม่มีกระแสลม จึงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าเป็นอย่างมาก โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โดยการสร้างอ่างเก็บน้ำตอนล่างเพิ่มขึ้น เพื่อกักเก็บน้ำที่ผ่านการผลิตไฟฟ้าจากอ่างเก็บน้ำตอนบน และรอจังหวะเวลาที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อย จึงสูบน้ำกลับขึ้นไปเก็บไว้ยังอ่างบน เพื่อนำกลับมาผลิตไฟฟ้าอีกครั้งในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามาก โดยใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าทดแทนไฟฟ้าจากพลังงานลมหรือแสงอาทิตย์ที่ขาดหายไปได้อย่างทันท่วงที แตกต่างจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อน ที่ต้องใช้เวลาในการเตรียมการนาน 2-4 ชั่วโมง โดยกระบวนการทั้งหมดจะไม่ส่งผลกระทบกับการใช้น้ำของประชาชน และหลักการนี้จึงทำให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเป็นระบบกักเก็บพลังงานที่ช่วยให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีความมั่นคงมากขึ้น
ปัจจุบัน กฟผ. มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ 3 แห่ง ได้แก่
1. เขื่อนศรีนครินทร์ เครื่องที่ 4 และ 5 จ.กาญจนบุรี กำลังผลิต 360 เมกะวัตต์
2. เขื่อนภูมิพล เครื่องที่ 8 จ.ตาก กำลังผลิต 171 เมกะวัตต์
3. โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา เครื่องที่ 1-4 จ.นครราชสีมา กำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์
ล่าสุด กฟผ. ยังมีแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ ขนาดกำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีแผนจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2577
เนื้อหาที่น่าสนใจ :